อื่นๆ

คำถาม-คำตอบ ราคามาตรฐานงบประมาณ

เปลี่ยนการแสดงผล

  1. หน้าหลัก   >  สำนักงบประมาณ   >  โฆษกสำนักงบประมาณ   >  ข่าวสารจากโฆษกสำนักงบประมาณ   >  งบประมาณของกรมหม่อนไหม ในเว็บไซต์ THE MOMENTUM วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔  
งบประมาณของกรมหม่อนไหม ในเว็บไซต์ THE MOMENTUM วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔
ผู้เข้าชม : 598

เรื่อง  งบประมาณของกรมหม่อนไหม ในเว็บไซต์ THE MOMENTUM วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔
ผู้ชี้แจง : สำนักงบประมาณ
สาระสำคัญ
        บทความ ผู้นำที่ดี คือผู้นำที่ไม่ทำลายศรัทธาของประชาชน โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ THE MOMENTUM แสดงความเห็นเกี่ยวกับงบประมาณของกรมหม่อนไหมโดยตั้งข้อสังเกตว่า กรมหม่อนไหม มีงบประมาณ ๕๖๐ ล้าน เพื่อส่งเสริมเชิงวัฒนธรรมให้กับคนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์ อาจจะไม่ใช่เชิงเศรษฐกิจ แต่ในเชิงของการสร้างอำนาจ 
สำนักงบประมาณขอเรียนชี้แจง ดังนี้  
        กรมหม่อนไหมได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ จำนวน  ๕๖๖.๙๗๓๓ ล้านบาท จำแนกเป็นแผนงานบุคลากรภาครัฐ ๒๘๗.๕๓๓๗ ล้านบาท แผนงานพื้นฐาน จำนวน ๑ แผนงาน เป็นเงิน ๑๕๓.๙๐๘๘ ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์ จำนวน ๒ แผนงาน เป็นเงิน ๑๐๖.๙๕๔๓ ล้านบาท และแผนงานบูรณาการ จำนวน ๑ แผนงาน เป็นเงิน ๑๘.๕๗๖๕ ล้านบาท (ผลสัมฤทธิ์ : สินค้าหม่อนไหมมีมูลค่าไม่น้อยกว่า ๓๖๐ ล้านบาท/ปี)
        กรมหม่อนไหมได้รับการเสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ จำนวน  ๕๐๖.๐๘๒๗ ล้านบาท (ลดลง - ๖๐.๘๙๐๖ ล้านบาท) จำแนกเป็นแผนงานบุคลากรภาครัฐ  ๒๘๓.๐๙๒๒ ล้านบาท  แผนงานพื้นฐาน จำนวน ๑ แผนงาน เป็นเงิน ๑๒๘.๕๓๔๕ ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์ จำนวน ๒ แผนงาน เป็นเงิน ๘๓.๘๐๖๓ ล้านบาท และแผนงานบูรณาการ จำนวน ๑ แผนงาน เป็นเงิน ๑๐.๖๔๙๗ ล้านบาท (ผลสัมฤทธิ์ : สินค้าหม่อนไหมมีมูลค่าไม่น้อยกว่า ๓๖๕ ล้านบาท/ปี)
        การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมถึงแม้จะไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ แต่กลุ่มอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคเกษตรของประเทศ ซึ่งปัจจุบันกรมหม่อนไหมมีภารกิจในการดูแลเกษตรกรกลุ่มอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจำนวน ๘๕,๔๓๗ ราย โดยมีพื้นที่ปลูกหม่อน ๖๘,๘๘๕.๒๕ ไร่ และมีภารกิจในการดูแลงานด้านหม่อนไหมอย่างครบวงจรด้วยการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การวิจัย การอนุรักษ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และตรวจสอบรับรองมาตรฐาน รวมไปถึงการแสวงหาช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในปัจจุบันมิได้ผลิตผ้าไหมเพียงอย่างเดียว หากแต่ได้รับการพัฒนาให้มีการขยายห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ออกไปในหลากหลายสินค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโปรตีนไหมเพื่อผลิตเป็นเวชสำอางต่างๆ อาหารโปรตีนสูง หรือแม้กระทั่งเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงในการผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ถึงแม้รายได้ไม่สูงเท่าพืชเศรษฐกิจอื่น แต่อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย และสามารถประกอบอาชีพได้ในถิ่นฐานบ้านเกิด สร้างความอบอุ่นในครอบครัว เป็นหนึ่งในอาชีพที่ตอบโจทย์ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเป็นรูปธรรม
 

วันที่ประกาศ : 11 ส.ค. 2564 | 14:50 น.
วันที่แก้ไขล่าสุด : 11 ส.ค. 2564 | 15:02 น.
0 Shares