เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑.PDF
แถลงข่าว
เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑
สำนักงบประมาณได้เสนอ เรื่อง แนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๑ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ประกอบด้วย 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนแรก เป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน ๔๙,๖๔๑.๙ ล้านบาท ซึ่งดำเนินการตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. ๒๔๙๑ ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อได้จ่ายเงินคงคลังไปจะต้องตั้งชดใช้ใน พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จึงเห็นได้ว่าในส่วนนี้ได้ดำเนินการเพื่อเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลัง มิให้ยอดสะสมของเงินคงคลังลดลง
ส่วนที่สอง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลอีกจำนวน ๑๐๐,๓๕๘.๑ ล้านบาท โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอคำของบประมาณเฉพาะโครงการ/รายการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการภายในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ ตามแนวทางสำคัญ ๓ แนวทาง ได้แก่
– การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๔ หน่วย ได้ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์
– การพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งรวมถึง การเข้าถึงแหล่งทุน วิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๓ หน่วย ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กองทุนหมู่บ้านฯ
– การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ๔ หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์
ดังนั้น จะเห็นว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ มีการกำหนดแนวทางและกรอบหน่วยงานผู้ปฏิบัติค่อนข้างชัดเจน หน่วยงานเป็นผู้จัดทำคำของบประมาณเข้ามา โครงการ/รายการที่ขอเข้ามาจะต้องมีรายละเอียดชัดเจน และที่สามารถตรวจสอบได้ ตั้งแต่ในขั้นตอนของสำนักงบประมาณ และจากฝ่ายนิติบัญญัติ มิใช่อยู่ในรูปของงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นเงินที่ตั้งไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น สำหรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย เช่น ภัยพิบัติ เป็นต้น
2. ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๐ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมในช่วงปี ๒๕๕๙ ประกอบกับผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง ๒ เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑ (ตุลาคม – พฤศจิกายน 2560) ก็ยังสูงกว่าประมาณการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นจำนวนประมาณ ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ ๕.๑ และคาดว่าจะมีรายได้ที่มาจากภาษีและรัฐพาณิชย์ต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก ประมาณ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นฐานในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในครั้งนี้
ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่เป็นการจัดทำตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำ การก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การใช้จ่ายงบประมาณที่ลดความซ้ำซ้อน มุ่งเน้นการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติเป็นสำคัญ รวมทั้ง
ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลัก
3. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในครั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เป็นการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และมุ่งเน้นในการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสในอาชีพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญเป็นผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกัน ยังมุ่งเน้นให้มีการพัฒนาในเชิงพื้นที่ผ่านกระบวนการประชาคม มีการสร้างและพัฒนาอาชีพในชุมชน มีโครงการที่สร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงของวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน นอกจากนี้ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมครั้งนี้ยังเน้นไปที่ภาคการเกษตร ให้มีการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตทั้งระบบ มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร ส่งเสริมการตลาดสมัยใหม่ ดังนั้น แนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมครั้งนี้ จึงไม่ใช่การทำประชานิยม หรือแจกเงิน แต่เป็นการวางรากฐานและปรับโครงสร้างของภาคการผลิต เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้ประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมโครงการ/รายการ ที่มีความพร้อม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในครั้งนี้ และสำนักงบประมาณจะได้มีการจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งจะมีการติดตามการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด โดยเน้นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และไม่ใช่รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ
4. หนี้สาธารณะ หมายถึง หนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจกู้หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือธุรกิจประกันสินเชื่อ โดยกระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน และหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับกรอบความยั่งยืนทางการคลังในปัจจุบัน กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 50
การจัดทำงบประมาณในรอบสี่ปีงบประมาณที่ผ่านมาจะใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลโดยตลอด แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ได้พยายามรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ในปี ๒๕๕๗ คิดเป็นร้อยละ ๔๗.๑๘ ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง ร้อยละ ๔๑.6๗ ณ พฤศจิกายน 2560 หากพิจารณายอดขาดดุลรวมของงบประมาณ ปี ๒๕๖๑ รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จะขาดดุลประมาณ ร้อยละ ๓.๓ ของ GDP ซึ่งมิได้สูงกว่าสถิติการขาดดุลงบประมาณในอดีต เช่นในช่วงปี ๒๕๕๒ – ๒๕๕๖ ที่มีการขาดดุลงบประมาณเฉลี่ยที่ร้อยละ ๓.๔ ของ GDP
รายชื่อผู้ที่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติม
1. โฆษกสำนักงบประมาณ นายบุญชู ประสพกิจถาวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
หมายเลขโทรศัพท์ 08 5488 9542
2. ผู้ช่วยโฆษกสำนักงบประมาณ นางเพชรัตน์ เสรีพันธ์พานิช ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การงบประมาณ หมายเลขโทรศัพท์ 08 1836 9822
เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๑.PDF