อื่นๆ

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547-2560

คำถาม-คำตอบ ราคามาตรฐานงบประมาณ

เปลี่ยนการแสดงผล

  1. หน้าหลัก   >  สำนักงบประมาณ   >  เกี่ยวกับสำนักงบประมาณ   >  ประวัติและความเป็นมา   
ประวัติและความเป็นมา
ผู้เข้าชม : 39710

สำนักงบประมาณ

สำนักงบประมาณเป็นส่วนราชการที่มีฐานะ เทียบเท่า กรมสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่จัดทำงบประมาณแผ่นดินเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติ ก่อนที่รัฐบาลจะนำเสนอรัฐสภา เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป สำนักงบประมาณต้องทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และ ประเทศชาติ โดยจัดสรรออกมาในรูปของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจนำไปใช้จ่ายในกิจกรรมของรัฐ เพื่อการพัฒนาประเทศ และ กิจการที่จำเป็นทั้งมวล รวมทั้งจะต้องดูแลให้การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างประหยัดที่สุดไม่ให้มีการรั่วไหลหรือสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์

สถานที่ตั้งของสำนักงบประมาณ

อาคารสถานที่ทำงานสำนักงบประมาณใช้ตึกพัฒนาซึ่งเป็นอาคารในบริเวณทำเนียบรัฐบาล เป็นที่ปฏิบัติงาน ต่อมาเมื่อมีการขยายภารกิจและบุคลากรเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้สถานที่เดิมคับแคบลง สำนักงบประมาณจึงได้ย้ายสถานที่ทำการมาอยู่ ณ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระรามที่ 6 เขตพญาไท กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน

ประวัติความเป็นมาของสำนักงบประมาณ

เมื่อกรมพระคลังมหาสมบัติได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวงเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2433 ในรัชกาลที่ 5 ก็ได้จัดให้มีกรมที่สำคัญกรมหนึ่ง คือ กรมบัญชีกลาง ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2469 ใน สมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการแบ่งส่วนราชการของกรมบัญชีกลางใหม่ ให้เหมาะสมกับภารกิจ ที่เพิ่มขึ้น โดยจัดแบ่งออกเป็น 6 กอง กองหนึ่งในจำนวนนี้ คือ กองงบประมาณ โดยกำหนดงานในหน้าที่ไว้ดังนี้ คือ การตรวจจ่ายฎีกาเบิกค่าใช้สอยการจร และเงินพิเศษที่เบิกจ่ายในงบประมาณ รักษางบประมาณ รักษาวิธีการที่เกี่ยวกับงบประมาณทำงบประมาณแผ่นดินและรักษาลายเซ็นนาม ครั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงกองงบประมาณ เป็นแผนกงบประมาณสังกัดกองค่าใช้จ่ายและการจร กรมบัญชีกลาง แต่ในปีถัดมารัฐบาลได้พิจารณาเห็นความสำคัญของงานงบประมาณอีก แผนกงบประมาณจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกองเช่นเดิมกองงบประมาณในครั้งนั้น ได้รับมอบหน้าที่จัดทำงบประมาณแผ่นดินประจำปีโดยตรงแต่ก็ยังเป็นลักษณะรวบรวมประมาณการรายจ่ายของกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ การพิจารณาและวิเคราะห์คำของบประมาณได้ใช้วิธีการที่ไม่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนมากนัก นอกจากนี้ก็ยังทำหน้าที่ควบคุมการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบด้วย

ต่อจากนั้นกองงบประมาณก็มีบทบาทเพิ่มขึ้น มีแผนกมากขึ้นกว่าเดิมพร้อมด้วยอัตรากำลังที่สูงขึ้นโดยลำดับจนถึงปี พ.ศ. 2499 สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการพร้อมกับแนะนำให้ปรับปรุงบทบาท และสถานภาพของหน่วยงานนี้ ครั้นถึงปี พ.ศ. 2501 จึงได้เลื่อนฐานะเป็นส่วนการงบประมาณ แต่ยังคงสังกัดกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเช่นเดิม

จนเมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นในเดือนตุลาคมปีนั้นคณะกรรมการฝ่ายการคลังและงบประมาณของคณะปฏิวัติได้พิจารณาเห็นว่าการงบประมาณนั้น เป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งของรัฐบาลในการที่จะบริหารและพัฒนาประเทศ สมควรยกฐานะหน่วยงานให้สูงกว่าเดิม และควรจัดแยกการจัดทำงบประมาณออกต่างหากจากการจัดเก็บรายได้และการเบิกจ่ายเงิน ดังนั้น รัฐบาลจึงได้จัดตั้งสำนักงบประมาณขึ้น โดยมีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2502 เป็นต้นมา

รายนามผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี

นับตั้งแต่สำนักงบประมาณได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2502 เป็นต้นมา มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณตามลำดับ ดังนี้

1. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
14 กุมภาพันธ์ 2502 - 30 กันยายน 2504

2. นายสิริ ปกาสิต
1 ตุลาคม 2504 - 11 มิถุนายน 2509

3. นายเรณู สุวรรณสิทธิ์
12 มิถุนายน 2509 - 20 พฤษภาคม 2513

4. พลโท ชาญ อังศุโชติ
21 พฤษภาคม 2513 - 22 พฤษภาคม 2517

5. นายบุญธรรม ทองไข่มุกต์
28 มิถุนายน 2517 - 20 ตุลาคม 2519

6. ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์
21 ตุลาคม 2519 - 7 พฤษภาคม 2526

7. นายบดี จุณณานนท์
13 พฤษภาคม 2526 - 20 กันยายน 2535

8. นายโกวิทย์ โปษยานนท์
1 ตุลาคม 2535 - 19 เมษายน 2536

9. นายบดี จุณณานนท์
20 เมษายน 2536 - 30 กันยายน 2538

10. นายเสรี สุขสถาพร
1 ตุลาคม 2538 - 30 กันยายน 2541

11. นายสวัสดิภาพ กันทาธรรม
1 ตุลาคม 2541 - 30 กันยายน 2542

12. นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์
1 ตุลาคม 2542 - 29 พฤษภาคม 2545

13. นายพรชัย นุชสุวรรณ
7 กรกฎาคม 2545 - 30 กันยายน 2546

14. นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
1 ตุลาคม 2546 - 30 กันยายน 2551

15. นายบัณฑูร สุภัควณิช
1 ตุลาคม 2551 - 30 กันยายน 2552

16. นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ
1 ตุลาคม 2552 - 30 กันยายน 2554

17. นายวรวิทย์ จำปีรัตน์
1 ตุลาคม 2554 - 30 กันยายน 2556

18. นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ
1 ตุลาคม 2556 – 30 กันยายน 2560

19. นายเดชาภิวัฒน์  ณ สงขลา
1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2564

20. นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร
1 ตุลาคม 2564 – ปัจจุบัน

การจัดองค์กร

โครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของสำนักงบประมาณ นับตั้งแต่การสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2502 มาจนถึงปัจจุบัน สำนักงบประมาณ ได้มีการพัฒนาด้านดังกล่าวนับรวมได้ ทั้งหมด ๑๓ ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1

ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2502 สำนักงบประมาณ ได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 7 กอง ประกอบด้วย

1. กองกลาง
2. กองวิทยาและกฎหมายการคลัง
3. กองแบบพิธี
4. กองงบประมาณฝ่ายการเมือง
5. กองงบประมาณฝ่ายเศรษฐกิจ
6. กองงบประมาณฝ่ายสังคม
7. กองงบประมาณฝ่ายรัฐพาณิชย์

และในปลายปี พ.ศ. 2504 จึงได้จัดตั้งหน่วยจัดวางระบบงาน (O&M Unit) ขึ้น โดยมีฐานะต่ำกว่ากองแต่สูงกว่าแผนก

ครั้งที่ 2

ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2505 สำนักงบประมาณ ได้ปรับบทบาทภารกิจเพื่อให้การปฏิบัติงานเกิด ประสิทธิภาพมากขึ้น และได้ปรับ หน่วยจัดวางระบบงานขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกอง พร้อมกับได้จัดจำแนก รวมงานด้านการวิเคราะห์งบประมาณใหม่ โดยแยกตามลักษณะงานเป็นด้าน ๆ ซึ่งเป็นผลให้ เกิดการแบ่งส่วนราชการออกเป็น 9 กอง ดังต่อไปนี้

1. กองกลาง
2. กองวิทยาและกฎหมายการคลัง
3. กองจัดวางระบบงาน
4. กองแบบพิธี
5. กองงบประมาณฝ่ายการเมือง
6. กองงบประมาณฝ่ายบริหาร
7. กองงบประมาณฝ่ายเศรษฐกิจ
8. กองงบประมาณฝ่ายสาธารณูปการ
9. กองงบประมาณฝ่ายรัฐพาณิชย์

ครั้งที่ 3

ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2505 สำนักงบประมาณได้ปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กรโดยแยกงานด้านวิเคราะห์ (Line) และ งานด้านวิชาการ (Staff) ออกจากกันและเพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ 2 ตำแหน่ง เพื่อดูแลงานที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการที่ปรับปรุงในครั้งนี้ ประกอบด้วยหน่วยงานระดับกอง จำนวน 10 กอง คือ

1. กองกลาง

ก. ส่วนวิชาการ ได้แก่

2. กองวิทยาและกฎหมายการคลัง
3. กองประมวลรายรับ
4. กองจัดวางระบบงาน
5. กองตรวจและรายงาน

ข. ส่วนวิเคราะห์ ได้แก่

6. กองงบประมาณฝ่ายการเมือง
7. กองงบประมาณฝ่ายการบริหาร
8. กองงบประมาณฝ่ายเศรษฐกิจ
9. กองงบประมาณฝ่ายสาธารณูปการ
10. กองงบประมาณฝ่ายรัฐวิสาหกิจ

ครั้งที่ 4

ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2515 ได้เพิ่มตำแหน่งรองผู้อำนวยการ 1 ตำแหน่งและยุบตำแหน่งผู้ช่วย ผู้อำนวยการ 2 ตำแหน่ง ส่วนการแบ่งส่วนราชการภายในได้มีการปรับให้เหมาะสมกับภารกิจ ปริมาณงานในขณะนั้นประกอบ ด้วยกองต่าง ๆ รวม 8 กอง คือ

1. กองกลาง
2. กองวิชาการ
3. กองจัดวางระบบงาน
4. กองประเมินผลและรายงาน
5. กองวิเคราะห์ 1
6. กองวิเคราะห์ 2
7. กองวิเคราะห์ 3
8. กองวิเคราะห์ 4

ครั้งที่ 5

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2525 ในครั้งนี้ได้มีการเพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ 3 ตำแหน่งเพื่อดูแล งานภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น และได้มีการขยายหน่วยงานระดับกองจาก 8 กอง เป็น 10 กอง 1 ศูนย์ ดังต่อไปนี้

1. กองกลาง
2. กองกฎหมายและมาตรฐานงบประมาณ
3. กองพัฒนาระบบงานและการบริหาร
4. กองประเมินผลและรายงาน
5. กองงบประมาณฝ่ายความมั่นคง
6. กองงบประมาณฝ่ายบริหารทั่วไป
7. กองงบประมาณฝ่ายเศรษฐกิจ 1
8. กองงบประมาณฝ่ายเศรษฐกิจ 2
9. กองงบประมาณฝ่ายการศึกษา
10. กองงบประมาณฝ่ายสาธารณสุขและสาธารณูปการ
11. ศูนย์สารสนเทศการงบประมาณ

ครั้งที่ 6

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 สำนักงบประมาณได้ปรับปรุงส่วนราชการภายในจากเดิม 10 กอง 1 ศูนย์ เป็น 15 กอง 1 ศูนย์ ประกอบด้วย

1. กองกลาง
2. กองกฎหมายและมาตรฐานงบประมาณ
3. กองงบประมาณฝ่ายการศึกษา 1
4. กองงบประมาณฝ่ายการศึกษา 2
5. กองงบประมาณฝ่ายความมั่นคง
6. กองงบประมาณฝ่ายบริหารทั่วไป
7. กองงบประมาณฝ่ายรัฐวิสาหกิจ
8. กองงบประมาณฝ่ายสาธารณสุขและสาธารณูปการ
9. กองงบประมาณฝ่ายเศรษฐกิจ 1
10. กองงบประมาณฝ่ายเศรษฐกิจ 2
11. กองงบประมาณฝ่ายเศรษฐกิจ 3
12. กองนโยบายงบประมาณ
13. กองประเมินผลและโครงการ
14. กองฝึกอบรม
15. กองพัฒนาระบบงานและการบริหาร
16. ศูนย์สารสนเทศการงบประมาณ

ครั้งที่ 7

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 สำนักงบประมาณ ได้ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการเพิ่มขึ้น รวมเป็น 4 ตำแหน่งและผู้ช่วยผู้อำนวยการ รวมเป็น 4 ตำแหน่ง พร้อมกับปรับปรุงการ แบ่งส่วนราชการ ภายในจาก 15 กอง 1 ศูนย์ เป็น 19 กอง 1 ศูนย์ ดังต่อไปนี้

1. กองกลาง
2. กองกฎหมายและมาตรฐานงบประมาณ
3. กองนโยบายงบประมาณ
4. กองประเมินแผนงานและโครงการ 1
5. กองประเมินแผนงานและโครงการ 2
6. กองฝึกอบรม
7. กองพัฒนาระบบงานและการบริหาร
8. ศูนย์ระบบสนเทศการงบประมาณ
9. กองงบประมาณฝ่ายความมั่นคง
10. กองงบประมาณฝ่ายบริหารทั่วไป
11. กองงบประมาณฝ่ายสาธารณสุข
12. กองงบประมาณฝ่ายสาธารณูปการ
13. กองงบประมาณฝ่ายเศรษฐกิจ 1
14. กองงบประมาณฝ่ายเศรษฐกิจ 2
15. กองงบประมาณฝ่ายเศรษฐกิจ 3
16. กองงบประมาณฝ่ายการศึกษา 1
17. กองงบประมาณฝ่ายการศึกษา 2
18. กองงบประมาณฝ่ายกิจกรรมพิเศษ
19. กองงบประมาณฝ่ายรัฐวิสาหกิจ
20. กองประสานงานงบประมาณส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น

ครั้งที่ 8

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2537 ในครั้งนี้ได้มีการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงบประมาณครั้งใหญ่ โดยได้กำหนดตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ เพิ่มขึ้นอีก 1 ตำแหน่ง รวมเป็น 5 ตำแหน่ง และปรับ หน่วยงาน ระดับกองบางกองขึ้นเป็นสำนัก มีฐานะสูงกว่ากองแต่ต่ำกว่ากรม จาก 19 กอง 1 ศูนย์ เป็น 3 กอง 1 ศูนย์ 8 สำนัก ดังต่อไปนี้

1. กองกลาง
2. กองกฎหมายและระเบียบ
3. กองงบประมาณฝ่ายรัฐวิสาหกิจ
4. ศูนย์งบประมาณส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น
5. สำนักมาตรฐานงบประมาณ
6. สำนักนโยบายและสารสนเทศการงบประมาณ
7. สำนักพัฒนาระบบงานและบุคลากร
8. สำนักประเมินผล
9. สำนักวิเคราะห์งบประมาณด้านความมั่นคงและบริหารทั่วไป
10. สำนักวิเคราะห์งบประมาณด้านการศึกษา
11. สำนักวิเคราะห์งบประมาณด้านเศรษฐกิจ
12. สำนักวิเคราะห์งบประมาณด้านสาธารณสุขและสาธารณูปการ

ครั้งที่ 9

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 สำนักงบประมาณ ได้ปรับหน่วยงานระดับกองบางกอง ขึ้นเป็นสำนัก มีฐานะสูงกว่ากองแต่ ต่ำกว่ากรม จาก 3 กอง 1 ศูนย์ 8 สำนัก เป็น 2 กอง 10 สำนัก ดังต่อไปนี้

1. กองกลาง
2. กองกฎหมายและระเบียบ
3. สำนักนโยบายและสารสนเทศการงบประมาณ
4. สำนักประเมินผล
5. สำนักพัฒนาระบบงานและบุคลากร
6. สำนักมาตรฐานงบประมาณ
7. สำนักวิเคราะห์งบประมาณด้านการศึกษา
8. สำนักวิเคราะห์งบประมาณด้านความมั่นคงและบริหารทั่วไป
9. สำนักวิเคราะห์งบประมาณด้านรัฐวิสาหกิจ
10. สำนักวิเคราะห์งบประมาณด้านเศรษฐกิจ
11. สำนักวิเคราะห์งบประมาณด้านสาธารณสุขและสาธารณูปการ
12. สำนักวิเคราะห์งบประมาณส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น

ครั้งที่ 10

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 สำนักงบประมาณได้ปรับปรุงส่วนราชการภายในจากเดิม 2 กอง 10 สำนัก เป็น 1 ศูนย์ 1 กอง 12 สำนัก ประกอบด้วย

1. ศูนย์สารสนเทศการงบประมาณ
2. กองกฎหมายและระเบียบ
3. สำนักอำนวยการและบริหารทั่วไป
4. สำนักนโยบายและแผนงบประมาณ
5. สำนักประเมินผล
6. สำนักพัฒนาระบบงบประมาณ
7. สำนักมาตรฐานต้นทุนงบประมาณ
8. สำนักจัดทำงบประมาณด้านการบริหารและความมั่นคง
9. สำนักจัดทำงบประมาณด้านการผลิตและสร้างรายได้
10. สำนักจัดทำงบประมาณด้านโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานและเทคโนโลยี
11. สำนักจัดทำงบประมาณด้านการศึกษาและวัฒนธรรม
12. สำนักจัดทำงบประมาณด้านพัฒนาสังคม อาชีพ และสุขภาพ
13.สำนักจัดทำงบประมาณส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น
14. สำนักจัดทำงบประมาณองค์การบริหารรูปแบบพิเศษและรัฐวิสาหกิจ

ครั้งที่ 11

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 สำนักงบประมาณได้ปรับปรุงส่วนราชการภายในจากเดิม 1 กอง 12 สำนัก 1 ศูนย์ เป็น 17 สำนัก 1 ศูนย์ 1 สถาบัน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. สำนักอำนวยการ
2. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ
3. สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการงบประมาณ
4. สำนักกฎหมายและระเบียบ
5. สำนักจัดทำงบประมาณด้านการบริหาร
6. สำนักจัดทำงบประมาณด้านความมั่นคง 1
7. สำนักจัดทำงบประมาณด้านความมั่นคง 2
8. สำนักจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 1
9. สำนักจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 2
10. สำนักจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 3
11. สำนักจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 4
12. สำนักจัดทำงบประมาณด้านสังคม 1
13. สำนักจัดทำงบประมาณด้านสังคม 2
14. สำนักจัดทำงบประมาณด้านสังคม 3
15. สำนักจัดทำงบประมาณองค์การบริหารรูปแบบพิเศษและรัฐวิสาหกิจ
16. สำนักนโยบายและแผนงบประมาณ
17. สำนักประเมินผล
18. สำนักพัฒนาระบบงบประมาณและการจัดการ
19. สำนักมาตรฐานงบประมาณ
20. กลุ่มยุทธศาสตร์การงบประมาณ
21. กลุ่มการจัดการงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และการบูรณาการงบประมาณในการบริหารราชการในต่างประเทศ
22. กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
23. กลุ่มตรวจสอบภายใน

ครั้งที่ 12

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 โดยจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

ครั้งที่ 13

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ให้แบ่งส่วนราชการสำนักงบประมาณ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานผู้อำนวยการ
(2) กองกฎหมายและระเบียบ
(3) – (13) กองจัดทํางบประมาณเขตพื้นที่ 1-11
(14) กองจัดทํางบประมาณด้านการบริหาร
(15) กองจัดทํางบประมาณด้านความมั่นคง 1
(16) กองจัดทํางบประมาณด้านความมั่นคง 2
(17) กองจัดทํางบประมาณด้านเศรษฐกิจ 1
(18) กองจัดทํางบประมาณด้านเศรษฐกิจ 2
(19) กองจัดทํางบประมาณด้านเศรษฐกิจ 3
(20) กองจัดทํางบประมาณด้านเศรษฐกิจ 4
(21) กองจัดทํางบประมาณด้านสังคม 1
(22) กองจัดทํางบประมาณด้านสังคม 2
(23) กองจัดทํางบประมาณด้านสังคม 3
(24) กองจัดทํางบประมาณด้านสังคม 4
(25) กองจัดทํางบประมาณเพื่อการบูรณาการงบประมาณเขตพื้นที่และการบูรณาการงบประมาณในการบริหารราชการในต่างประเทศ
(26) กองจัดทํางบประมาณองค์การบริหารรูปแบบพิเศษและรัฐวิสาหกิจ
(27) กองนโยบายงบประมาณ
(28) กองประเมินผล
(29) กองพัฒนาระบบงบประมาณและการจัดการ
(30) กองมาตรฐานงบประมาณ
(31) กองยุทธศาสตร์การงบประมาณ
(32) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ
(33) สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการงบประมาณ
(34) กลุ่มตรวจสอบภายใน
(35) กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
(36) ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต


ครั้งที่ 14

ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ให้แบ่งส่วนราชการสำนักงบประมาณ ดังต่อไปนี้

(1) สำนักงานผู้อำนวยการ
(2) กองกฎหมายและระเบียบ
(3) กองจัดทํางบประมาณด้านการบริหาร
(4) กองจัดทํางบประมาณด้านความมั่นคง 1
(5) กองจัดทํางบประมาณด้านความมั่นคง 2
(6) กองจัดทํางบประมาณด้านเศรษฐกิจ 1
(7) กองจัดทํางบประมาณด้านเศรษฐกิจ 2
(8) กองจัดทํางบประมาณด้านเศรษฐกิจ 3
(9) กองจัดทํางบประมาณด้านเศรษฐกิจ 4
(10) กองจัดทํางบประมาณด้านสังคม 1
(11) กองจัดทํางบประมาณด้านสังคม 2
(12) กองจัดทํางบประมาณด้านสังคม 3
(13) กองจัดทํางบประมาณด้านสังคม 4
(14) กองจัดทํางบประมาณเพื่อการบูรณาการงบประมาณและยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่
(15) กองจัดทํางบประมาณองค์การบริหารรูปแบบพิเศษและรัฐวิสาหกิจ
(16) กองนโยบายงบประมาณ
(17) กองประเมินผล
(18) กองพัฒนาระบบงบประมาณและการจัดการ
(19) กองมาตรฐานงบประมาณ
(20) กองยุทธศาสตร์การงบประมาณ
(21) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ
(22) สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการงบประมาณ
(23) – (40) สำนักงานงบประมาณเขตพื้นที่ 1-18

วันที่ประกาศ : 23 ส.ค. 2560 | 00:00 น.
วันที่แก้ไขล่าสุด : 24 พ.ค. 2565 | 13:08 น.
0 Shares