อื่นๆ

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547-2560

คำถาม-คำตอบ ราคามาตรฐานงบประมาณ

เปลี่ยนการแสดงผล

  1. หน้าหลัก   >  สำนักงบประมาณ   >  การปฏิบัติงาน บริหารและกำกับดูแลองค์กร   >  การกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงบประมาณ  
การกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงบประมาณ
ผู้เข้าชม : 9262

1. ความหมาย

การกำกับดูแลกิจการที่ดี คือ การจัดให้มีโครงสร้างที่ดีของการจัดการและการดำเนินกิจการ รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง เพื่อสร้างความสามารถในการดำเนินงานให้เจริญเติบโต และเพื่อผลประโยช์นของประเทศชาติและประชาชน

 

2. ความสำคัญ

สำนักงบประมาณในฐานะหน่วยงานกลางได้ตระหนักถึงภารกิจในการเป็นกลไก และเครื่องมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ และตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมีภารกิจสำคัญในการจัดการงบประมาณเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ จึงได้ให้ความสาคัญกับการดำเนินการในการจัดการงบประมาณที่โปร่งใส สามารถตอบสนองผู้รับบริการและประชาชนให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องมีหลักการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน จึงได้จัดทำกรอบ “การกับกำดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) ของสำนักงบประมาณ” ขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการของสำนักงบประมาณให้บรรลุผลสำเร็จ ภายใต้คำขวัญ “GG – BOB : ระบบดี คนดี และมีการจัดการที่ดี” เพื่อให้สำนักงบประมาณเป็นองค์กรที่ทันสมัย โปร่งใส รับผิดชอบ ผลงานดี มีคุณค่าน่าเชื่อถือ

 

3. หลักการ : การกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงบประมาณ

ได้กำหนดไว้ 6 ประการ ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสร้างผลงานที่ดีในระยะยาว และให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณที่ต้องถือปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่

  1. ความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและการกระทำของตนเอง สามารถชี้แจง และอธิบายได้ (Accountability) หมายถึง เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณต้องคอยเอาใจใส่ ระลึก และปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ รัดกุม และยอมรับผลจากการกระทำต่าง ๆ อย่างกล้าหาญ รวมทั้งยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเสมอ
  2. ความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ (Responsibility) หมายถึง เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณต้องมุ่งมั่นและทุ่มเทในการดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งต้องเรียนรู้ เพิ่มขีดความสามารถอยู่เสมอ
  3. ความยุติธรรมและซื่อสัตย์ (Fairness and Integrity) หมายถึง เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ ต้องปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน ยึดถือระบบคุณธรรม สามารถไว้ใจได้ และไม่หลอกลวง
  4. การดำเนินงานที่โปร่งใส (Transparency) หมายถึง เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณมุ่งมั่นดำเนินงานด้วยเจตณารมณ์ที่ดี มีหลักฐานอ้างอิง และสามารถตรวจสอบชี้แจงได้เสมอ
  5. การสร้างคุณค่าระยะยาวแก่ผู้มีส่วนได้เสีย (Creation of Long – term Value to all Stakeholders) เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณจะต้องทำงานให้เกิดคุณค่าและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ทันสมัย โปร่งใส รับผิดชอบ ผลงานดี มีคุณค่าน่าเชื่อถือ
  6. การส่งเสริมการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Promotion of Best Practices) หมายถึง สำนักงบประมาณต้องใช้วิธีการปฏิบัติงานที่ดีที่สุดและมีความถูกต้องเหมาะสมในทุกภารกิจของสำนักงบประมาณ

 

4. โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี

สำนักงบประมาณมุ่งหวังให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นเสาหลัก และเป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตาม ส่งเสริม และสื่อสารการกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงบประมาณ ให้แพร่หลายจริงจัง และเป็นรูปธรรม จึงจัดให้มีโครงสร้างที่ดีของการกำกับดูแล และกำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน เพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถยึดถือปฏิบัติได้ โดยแบ่งเป็น 3 โครงสร้าง ดังนี้

4.1 ผู้บริหาร

ผู้บริหารของสำนักงบประมาณ หมายถึง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนัก/สถาบัน/ศูนย์ และผู้เชี่ยวชาญระดับ 9 ซึ่งมีบทบาท ดังนี้

  1. จัดให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีให้ปฏิบัติตาม
  2. กำกับดูแลการดำเนินงานของสำนักงบประมาณ ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ
  3. ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยม (วัฒนธรรมองค์กร) ที่สำนักงบประมาณมุ่งหวัง ให้เป็นและให้บังเกิดขึ้นจริง
  4. พิจารณาและหารือเพื่อปรับปรุงและพัฒนาแผนกลยุทธ์ แผนงบประมาณ และแผนการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อบรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติงานของสำนักงบประมาณ
  5. กำหนดให้มีระเบียบปฏิบัติงานที่ชัดเจนและเหมาะสม มีระบบการควบคุมภายในที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม
  6. กำกับดูแลให้มีการสื่อสารและเปิดเผยสารสนเทศในเรื่องต่าง ๆ ให้กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างถูกต้องเหมาะสม
  7. ติดตามการดำเนินงานของสำนักงบประมาณให้บรรลุวัตถุประสงค์ การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติงาน และนโยบายที่เกี่ยวข้อง
  8. กำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถให้เกิดศักยภาพในการปฏิบัติงานสูงสุด ให้มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างเป็นธรรม และจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและปลอดภัย เนื่องจากบุคลากรเป็นปัจจัยที่สาคัญที่สุดที่สำนักงบประมาณจะต้องส่งเสริมให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง
  9. กำกับดูแลให้มีการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

4.2 คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน

คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หมายถึงกลุ่มบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่จำเป็นต้องทำร่วมกันในเชิงบูรณาการภายในสำนักงบประมาณ เช่น คณะกรรมการพิจารณาการจัดทำคำของบประมาณ คณะอนุกรรมการจัดการงบประมาณ คณะทำงานพิจารณาทบทวนโครงสร้างผลผลิต โครงการ กิจกรรม และตัวชี้วัด เป็นต้น ประกอบด้วย ประธาน เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ และกรรมการ/ อนุกรรมการ/ คณะทำงาน ซึ่งมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. เป็นบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี
  2. เป็นบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามสายการปฏิบัติงาน

บทบาทหน้าที่

  1. มีอำนาจหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย และปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสำนักงบประมาณและผู้มีส่วนได้เสีย
  2. ประธานต้องมีภาวะผู้นำ สามารถกำกับดูแลการประชุม ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด และสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในที่ประชุมได้อย่างประณีประนอม
  3. เลขานุการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแล และให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติ และรับผิดชอบการจัดประชุมคณะกรรมการ รวมถึงช่วยคณะกรรมการดูแลให้มีการปฏิบัติตามมติของที่ประชุม และการรักษาเอกสารข้อมูล
  4. กรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน มีหน้าที่เสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อที่ประชุมได้อย่างอิสระ โดยไม่อยู่ภายใต้การกำกับของผู้บังคับบัญชา และมีความใส่ใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ตรงต่อเวลา อุทิศเวลาเข้าร่วมประชุมได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและหน่วยงาน

4.3 เจ้าหน้าที่

หมายถึง เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณตั้งแต่ระดับ 8 ลงมา รวมทั้งพนักงานราชการและลูกจ้างซึ่งควรประพฤติปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

  1. ซื่อสัตย์ และมีความรับผิดชอบ หมายถึง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตรงไปตรงมา มีหลักธรรม แยกเรื่องส่วนตัวออกจากหน้าที่การงาน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ต่อประชาชน ต่อผลการปฏิบัติงาน ต่อองค์กร และต่อการพัฒนาปรับปรุงระบบราชการ
  2. มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน หมายถึง ทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด ทำงานให้เกิดผลดีแก่หน่วยงานและส่วนรวม ใช้ทรัพยากรของทางราชการให้คุ้มค่า เสมือนหนึ่งการใช้ทรัพยากรของตนเอง เน้นการทำงานโดยยึดผลลัพธ์เป็นหลัก
  3. พร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง พัฒนาความสามารถให้เกิดศักยภาพสูงสุดในการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นคนดีและคนเก่ง
  4. มีจิตใจที่จะให้บริการอย่างเสมอภาค ปฏิบัติต่อผู้มารับบริการด้วยความมีน้ำใจ เมตตา เอื้อเฟื้อ
  5. ปฏิบัติงานโดยยึดหลักความถูกต้องดีงาม ชอบธรรม เสียสละ อดทน ที่ตั้งอยู่บนหลักวิชาและจรรยาวิชาชีพ

 

5. การพัฒนาและการสนับสนุนการปฏิบัติงาน

  1. การคุ้มครองการปฏิบัติงาน ผู้บริหารจะคุ้มครองการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอย่างถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ ตลอดจนสนับสนุนคนดีและคนเก่งให้ได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว และเป็นธรรม
  2. การประเมินผลการปฏิบัติงาน สำนักงบประมาณมีการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยผู้บริหารระดับต้น และในรูปคณะกรรมการฯ ผลการปฏิบัติงานจะนำมาพิจารณาสนับสนุนความดีความชอบประจำปี และประกอบการพิจารณาความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างเป็นธรรม
  3. การฝึกอบรม สำนักงบประมาณจะต้องส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณทุกคนให้มีโอกาสในการเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ

 

6. วิธีการ

ในการดำเนินงานของสำนักงบประมาณ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ยึดถือวิธีการที่เป็นรูปธรรม และตรวจสอบได้ 4 ประการ คือ

  1. มีความถูกต้อง ตามกฎ กติกาที่กำหนดไว้ ตรงตามบรรทัดฐานที่วางไว้หรือสมควรจะเป็นและไม่บิดเบือน
  2. มีความเหมาะสม มีความพอสมควรแก่กรณี เป็นที่ยอมรับได้
  3. มีความโปร่งใส มีเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ มีหลักฐานอ้างอิง หรือมีลักษณะ 3Cs คือ Clear (ความชัดเจน) Consistent (ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน หรือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงสามารถมีคำอธิบาย ชี้แจงได้อย่างชัดเจน) และ Comparable (มีการดำเนินการอยู่บนพื้นฐานที่เปรียบเทียบเรื่องเดียวกันได้เสมอ สามารถตรวจสอบชี้แจงได้เสมอ)
  4. มีความยุติธรรม คือ มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ตามระบบคุณธรรม

 

7. เป้าหมาย

สำนักงบประมาณมีเป้าหมายสูงสุดให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จภายใต้คำขวัญ GG – BOB : ระบบดี คนดี และมีการจัดการที่ดี เพื่อให้สำนักงบประมาณเป็นองค์กรที่ทันสมัย โปร่งใส รับผิดชอบ ผลงานดี มีคุณค่าน่าเชื่อถือ

 

8. วินัย

ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างทุกคนปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

 

9. พันธสัญญา

ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณมีพันธสัญญา ดังนี้

  1. ทุกคนได้รับและอ่านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงบประมาณ จรรยาบรรณของข้าราชการสำนักงบประมาณแล้ว
  2. ทุกคนเข้าใจและตกลงยึดถือการกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงบประมาณ จรรยาบรรณของข้าราชการสำนักงบประมาณ เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงานด้วยมาตรฐานขั้นสูงสุด
     
วันที่ประกาศ : 24 ส.ค. 2560 | 00:00 น.
วันที่แก้ไขล่าสุด : 24 ส.ค. 2560 | 14:53 น.
0 Shares