อื่นๆ

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547-2560

คำถาม-คำตอบ ราคามาตรฐานงบประมาณ

เปลี่ยนการแสดงผล

  1. หน้าหลัก   >  สำนักงบประมาณ   >  การปฏิบัติงาน บริหารและกำกับดูแลองค์กร   >  นโยบายและทิศทางการบริหาร   
นโยบายและทิศทางการบริหาร.
ผู้เข้าชม : 15273

นโยบายและทิศทางการบริหาร

สำนักงบประมาณในฐานะหน่วยงานกลางระดับชาติที่เป็นกลไกหลักของรัฐบาลในการจัดการงบประมาณของชาติเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนตามทิศทางนโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์ของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงจากระดับประเทศสู่ระดับปฏิบัติในระดับหน่วยงาน จึงได้กำหนดนโยบายและทิศทางการบริหารของสำนักงบประมาณบนพื้นฐานของการกำกับดูแลองค์การที่ดี ประกอบด้วยนโยบาย ๕ ด้านหลักและแนวปฏิบัติ ดังนี้

๑. นโยบายด้านผลสัมฤทธิ์การจัดการงบประมาณตามนโยบายรัฐบาล

  • จัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและวินัยทางการเงินการคลังเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยคำนึงถึงผลลัพธ์และผลกระทบต่อประเทศ
  • ติดตามและประเมินผลความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

แนวปฏิบัติ

  • วิเคราะห์สถานการณ์ ภาระงบประมาณ และแนวโน้มงบประมาณแผ่นดิน ตลอดจนจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ กำหนดนโยบายงบประมาณและวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามทิศทางนโยบายรัฐบาล
  • วิเคราะห์และจัดสรรงบประมาณที่ตอบสนองต่อทิศทางนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบาย/เรื่องสำคัญของรัฐบาล ตลอดจนจัดทำข้อคิดเห็นในการจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วน ตามระดับความพร้อม
  • พัฒนาระบบติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐบาล เช่น Policy implementation Profile โดยเน้นนโยบาย/เรื่องสำคัญของรัฐบาล เพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับประกอบการตัดสินใจแก่รัฐบาล
  • ติดตาม วิเคราะห์ และรายงานผลการดำเนินนโยบาย/เรื่องสำคัญของรัฐบาล ให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงบประมาณ เพื่อเป็นข้อมูลในการให้คำแนะนำเชิงยุทธศาสตร์แก่ส่วนราชการและฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้อง

๒. นโยบายด้านการสนับสนุนกลไกนิติบัญญัติ

  • สนับสนุนกลไกนิติบัญญัติให้สามารถพิจารณางบประมาณแผ่นดินให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ หมวด ๘ การเงิน การคลัง และงบประมาณ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

แนวปฏิบัติ

  • สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบและวิธีการงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานยุทธศาสตร์ในภาพรวม ให้กับฝ่ายนิติบัญญัติ
  • สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะแนวทางการกำหนดแนวทางและเกณฑ์การปรับลดงบประมาณที่เหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
  • รวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลงบประมาณสำคัญที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการพิจารณางบประมาณของฝ่ายนิติบัญญัติ
  • สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือฝ่ายนิติบัญญัติในการติดตามการบริหารงบประมาณตามที่ได้รับการประสาน

๓. นโยบายด้านการปฏิบัติงานและให้บริการแก่ส่วนราชการและหน่วยงาน

  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้กระทรวงและหน่วยงานมีบทบาทในการตัดสินใจวางแผนปฏิบัติงานและแผนงบประมาณตามนโยบายรัฐบาล
  • ปฏิบัติงานเชิงรุก โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการและประสานความร่วมมือกับส่วนราชการและหน่วยงานในการจัดการงบประมาณตลอดวงจรงบประมาณ

แนวปฏิบัติ

  • ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ส่วนราชการทั้งผู้บริหารและบุคลากรในระดับปฏิบัติ เกี่ยวกับการจัดการงบประมาณตลอดวงจรงบประมาณ บนพื้นฐานของการปฏิบัติงานตามระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะเครื่องมือที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น หลักการ 3R (Review Redeploy and Replace) หลักเกณฑ์ในการบูรณาการ หรือคู่มือการจัดทำและวิเคราะห์ความต้อการงบลงทุนเบื้องต้น เป็นต้น
  • เน้นการบูรณาการและประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียหลัก (ส่วนราชการและหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค/จังหวัด) โดยให้คำปรึกษาและร่วมหารือเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันทั้งในบริหารงบประมาณของส่วนราชการและหน่วยงานตามนโยบายรัฐบาล
  • ปฏิบัติงานเชิงรุกในทุกระดับ โดยการให้คำแนะนำ และร่วมคิด กับส่วนราชการและหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ การวางแผน การบริหาร รวมทั้งการติดตามและประเมินผล
  • วิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนาเพิ่มพูนทักษะด้านการจัดการงบประมาณ ที่เหมาะสมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องของส่วนราชการและหน่วยงาน ตลอดจนติดตั้งกลไกและวิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้ และดำเนินการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง

๔. นโยบายด้านองค์การ

  • เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการงบประมาณให้เข้าสู่ “ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศของรัฐบาล
  • ยกระดับสำนักงบประมาณเข้าสู่งบประมาณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Budgeting) เต็มรูปแบบ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการวางแผน วิเคราะห์และจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ

แนวปฏิบัติ

  • พัฒนาระบบ รูปแบบ และเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งที่เป็นการริเริ่มนวัตกรรมใหม่ และที่เป็นการปรับปรุงระบบเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • พัฒนา/กำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการวิเคราะห์และจัดสรรงบประมาณที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ เช่น หลักการ 3R (Review Redeploy and Replace) หลักเกณฑ์ในการบูรณาการ หรือหลักเกณฑ์การพิจารณางบลงทุนเบื้องต้น เป็นต้น
  • พัฒนาระบบติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ควบคู่กับพัฒนาระบบการคาดการณ์สถานการณ์สำคัญตามนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้สามารถเข้าใจสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ตลอดจนสามารถเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือเตรียมการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบและทันถ่วงที
  • พัฒนาระบบการทำงานทั้ง Front Office และ Back Office ให้เชื่อมโยงอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณสามารถเข้าใจและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
  • พัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศภายในองค์กร ให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการประยุกต์ใช้งาน โดยจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อให้สามารถร่วมใช้ประโยชน์ได้อย่างตรงต่อความต้องการ
  • พัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสารสนเทศภายในองค์กรให้มีความพร้อม และเอื้อต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรสำนักงบประมาณ

๕. นโยบายด้านทรัพยากรบุคคล

  • ยกระดับขีดความสามารถบุคลากรสำนักงบประมาณ ให้มีทัศนคติ ความรู้ ทักษะ และความชำนาญในการจัดการงบประมาณแผ่นดิน โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
  • ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติงาน เพื่อให้บุคลากรสำนักงบประมาณสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยความโปร่งใส และต้องตรวจสอบได้ บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล

แนวปฏิบัติ

  • ผลักดันการทำงานเป็นทีมและการทำงาน Cross Function ควบคู่กับการเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องของหลักการ ระบบวิธีการ และความชำนาญอื่น ๆ (Capacity Building)
  • จัดให้มีระบบ Coaching และ Consulting เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกันภายในสำนักงบประมาณ (จากผู้บริหารระดับสูง สู่ระดับกลาง และสู่ระดับปฏิบัติการ) ซึ่งจะเป็นการสร้างฐานการทำงานด้วยความรู้ของสำนักงบประมาณให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
  • จัดอบรมเชิงสัมมนาและเชิงปฏิบัติการแก่บุคลากรสำนักงบประมาณ เพื่อยกระดับความชำนาญในการจัดการงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความรู้และประสบการณ์ฯ เข้าร่วมสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับบุคลากรสำนักงบประมาณ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  • ระดมผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความรู้และประสบการณ์ทั้งจากภายในและภายนอกสำนักงบประมาณ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์และให้ข้อคิดเห็นแนวทางในการพัฒนาหลักเกณฑ์และมาตรฐานต่าง ๆ ในการจัดการงบประมาณแผ่นดินตลอดวงจรงบประมาณ
  • จัดหาและติดตั้งระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองเกี่ยวกับองค์ความรู้ในการบริหารโครงการทั้งจากภายในและภายนอกสำนักงบประมาณ โดยติดตั้งผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยภายในองค์กร
  • สร้างจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล และสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานตามแนวทาง “จริยธรรมข้าราชการสำนักงบประมาณ”
วันที่ประกาศ : 26 ก.ย. 2560 | 00:00 น.
วันที่แก้ไขล่าสุด : 07 พ.ย. 2560 | 13:46 น.
0 Shares